ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเลยมีหลักฐานปรากฏแน่ชัดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองเลยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2396 ส่วนความเป็นมาก่อนหน้านี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในระดับหมู่บ้านและการสร้างบ้านแปลงเมืองซึ่งเป็นเมืองโบราณในท้องที่จังหวัดเลย โดยมาจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา อาจมีการบันทึกไว้ในรูปของสมุดข่อยคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งพงศาวดาร ซึ่งรายละเอียดอาจไม่ตรงกันนัก สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา กลุ่มชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ที่เป็นจังหวัดเลยกลุ่มแรกนั้นเชื่อกันว่า เป็นชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก เป็นอาณาจักรใหญ่ครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงดินแดนแคว้นตังเกี๋ยของประเทศจีน และรัฐฉานของพม่า มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18 โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา
ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา มีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้ายในปัจจุบัน ต่อมาจึงอพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำชื่อหมู่บ้านด่านซ้าย มาใช้ที่หมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น “เมืองด่านซ้าย” ขณะที่มีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขตล้านนาต่อแดนล้านช้างอยูระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้นสันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า “บ้านแห่” (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า “ห้วยหมาน” พ.ศ. 2396
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลยมีผู้คนมากขึ้น ควรจะตั้งเป็นเมืองเพื่อประโยชน์ในการปกครอง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ อำเภอนากอก ปัจจุบันอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง
ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นบริเวณลำน้ำเหือง ใน พ.ศ. 2450 มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ “เมืองเลย” โดยเปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น “อำเภอเมืองเลย”
อำเภอเมืองเลย
แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 14 ตำบล 131 หมู่บ้าน
ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 15 แห่ง ได้ก่
📍 เทศบาลเมืองเลย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดป่องทั้งตำบล
📍 เทศบาลตำบลนาอ้อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาอ้อทั้งตำบล
📍 เทศบาลตำบลน้ำสวย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลน้ำสวย
📍 เทศบาลตำบลนาอาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาอานทั้งตำบล
📍 เทศบาลตำบลนาโป่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาโป่งทั้งตำบล
📍 เทศบาลตำบลนาดินดำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาดินดำทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลกกดู่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกกดู่ทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำหมาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำหมานทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลเสี้ยว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเสี้ยวทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสวย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำสวย (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลน้ำสวย)
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลชัยพฤกษ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชัยพฤกษ์ทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาแขมทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลศรีสองรัก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีสองรักทั้งตำบล
📍 องค์การบริหารส่วนตำบลกกทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกกทองทั้งตำบล